การทำโดพามีนดีท็อกซ์ (Dopamine Detox) คือ การพักสมองจากสิ่งเร้า เช่น สมมติเราเสพติดการช้อปปิ้ง หรือติดเช็กแจ้งเตือนบนมือถือตลอดเวลา เราก็แค่หักดิบ ตัดขาดจากสิ่งเหล่านั้น เป็นเวลา 7-10 วัน เพื่อรีเซ็ตค่ากลาง ให้สารโดพามีนในสมองกลับมาสมดุล ซึ่งแนวคิดเรื่องการดีท็อกซ์โดพามีนถูกนำมาใช้ครั้งแรก โดยนักประสาทวิทยาและจิตแพทย์ Dr. Cameron Sepah
กลไกของการหลั่งสารโดพามีน อธิบายง่ายๆ ได้ว่า สิ่งเร้า เช่น การช้อปปิ้ง โซเชียลมีเดีย เกม การพนัน การกินตามอารมณ์ สื่อลามก หรือการช่วยตัวเอง เวลาที่เราเสพสิ่งเหล่านี้ สมองของเราจะหลั่งสารโดพามีน ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าสาร "รู้สึกดี" เพื่อเป็นรางให้กับพฤติกรรมนั้นๆ พอร่างกายเริ่มเคยชินกับสิ่งเร้า สมองก็จะไม่หลั่งสารโดพามีนเพิ่มอีก นั่นหมายความว่า เราจะต้องการเสพสิ่งเร้า เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับการติดสารเสพติด ที่ต้องเสพมากขึ้น เพิ่มโดสขึ้นเรื่อยๆ พอเสพติด สุดท้ายก็จะส่งผลกระทบกับชีวิต ทั้งการทำงาน การพักผ่อน หรือแม้แต่เงินในกระเป๋า..
แต่ถ้าระดับโดพามีนต่ำลง หรือหยุดทำงาน ก็จะส่งผลให้เกิดอารมณ์หดหู่ เหงา และซึมเศร้า แทน
แล้วใครควรเริ่มทำ Dopamine Detox ?
1. คนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่กับโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ช้อปปิ้ง แอปฯเกม หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ในแต่ละวัน
2. คนที่จับโทรศัพท์ หรือเช็กการแจ้งเตือนบนมือถือตลอดเวลา
3. คนที่ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เช่น ไปทำงานหรือไปโรงเรียนสาย หรือเสียสมาธิได้ง่ายๆ ในขณะที่คุณกำลังโฟกัสกับอะไรบางอย่าง
4. คนที่รู้สึกหงุดหงิด วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน เวลาพยายามจำกัดการใช้โทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย หรือวิดีโอเกม
ตัวอย่างการกำหนดช่วงเวลา เพื่อพักสมองจากสิ่งเร้า เช่น
1 - 4 ชั่วโมง ในตอนท้ายของวัน (เพื่อใช้เวลากับครอบครัว)
1 วัน ทุกสุดสัปดาห์ (เพื่อเล่นกีฬาหรืองานอดิเรก)
1 สุดสัปดาห์ ทุกไตรมาส (เพื่อไปพักผ่อนช่วงสุดสัปดาห์)
1 สัปดาห์ทุกปี (เพื่อไปพักร้อน)
หรือจะกำหนดเวลาการใช้เวลาบนหน้าจอในแต่ละวันก็ได้ เช่น
5 - 30 นาที วันละ 1-3 ครั้ง ในวันธรรมดา
3 ชั่วโมงต่อวัน ในวันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ
ตัวอย่างดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น เราสามารถออกแบบให้เหมาะกับตัวเราเองได้ ตามความเหมาะสม และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมอื่นๆ ได้ อย่าง การลดความถี่ในการช้อปปิ้งใน 1 สัปดาห์ เป็นต้น
สรุปแล้วการทำ Dopamine Detox ได้ผลจริงมั้ย ?
จริงๆ ยังไม่มีข้อพิสูจน์ออกมามากนัก แต่ก็มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การใช้สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดีย เชื่อมโยงกับอัตราความเครียดทางอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นในเยาวชน
รวมถึงการศึกษาชิ้นหนึ่ง พบว่า การจำกัดการใช้ Facebook ส่งผลให้ภาวะซึมเศร้า น้อยลง มีงานอดิเรกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น